วัดวรจรรยาวาส
วัดวรจรรยาวาส เดิมชื่อว่า วัดบางขวางล่าง เพราะเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดหันลงสู่แม่น้ำ เหนือวัดนั้นมีคลองบางขวางซึ่งอยู่ติดกับวัด ส่วนปลายคลองนั้นเลียบวัดเข้าไปในสวน ซึ่งเป็นที่ที่ราษฏรในสวนนั้นใช้บรรทุกของจากสวนทางเรือไปมาซื้อขายกันเป็นประจำ ชนทั้งหลายเมื่อมีผู้มาสร้างวัดใหม่ขึ้น จึงเรียกขานตามความนิยมของชนในสมัยนั้นว่า “วัดบางขวางล่าง”
เพิ่งมาเปลี่ยนในสมัยท่านพระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (ไหม บุญยโชติ) เป็นเจ้าอาวาส ถวายพระพรแด่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤติยากร ด้วยมูลเหตุว่า ทางวัดบางขวางล่างนี้ได้รับความเมตตาอุปถัมภ์เป็นอเนกนานาประการจากกุลทายิกา คือ ผู้สืบสกุลบุตรหลานจากท่านเจ้าของผู้สร้างวัดนี้มา คือ ท้าววรจันทรบรมธรรมิกภักดีนารีวรคณานุรักษา คุณย่าของพระองค์ ซึ่งได้มาบูรณะปฏิสังขรณ์วัด เช่น ซ่อมแซมพระอุโบสถ (โบสถ์) สร้างกุฎิสงฆ์ สร้างหอฉัน สร้างหอนั่ง และบางปีทางวัดไม่มีผู้จองกฐิน ท่านก็รับเป็นเจ้าภาพทอดในปีนั้น ถ้าปีใดท่านมาทอดกฐินจะเป็นการใหญ่ทีเดียว เพราะมีเจ้านาย ท้าวนางผู้ใหญ่ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมฝ่ายใน ทั้งในรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ที่เป็นมิตรสหายของท่าน เสด็จและมาช่วยงานท่านมากมาย ท่านได้มาวัดนี้ติดต่อกันถึง ๓ เจ้าอาวาส เพราะท่านมีชนมายุยืนถึง ๙๘ ปี จึงได้ถึงแก่อสัญกรรม (ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒)
ฉะนั้น ทางวัดใคร่ขอเปลี่ยนนามใหม่เป็น “วัดวรจันทราวาส” ตามสัญญาบัตรที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็น “ท้าววรจันทรบรมธรรมิกภักดีนารีวรคณานุรักษา” มีตำแหน่งหน้าที่ในการบังคับบัญชาตัดสินราชการฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนมีหน้าที่ในการกราบทูลถวายคำแนะนำแด่พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในและว่ากล่าวตักเตือนพระสนมกำนัลฝ่ายใน
ท่านได้รับราชการฝ่ายใน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นเจ้าจอมมารดาได้มีพระโอรสพระองค์เดียว คือ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ประสูติเมื่อวันพุธที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖ ปีกุน ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา และใน พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้ทรงรับเลื่อนกรมเป็น กรมขุน ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๓ ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดาและสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันอังคารที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ รวมพระชันษา ๕๒ พรรษา ทรงเป็นต้นราชสกุล “โสณกุล” และทรงเป็นพระบิดาของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ท้าววรจันทรฯ ท่านได้เข้ารับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ต่อ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ท้าววรจันทรบรมธรรมิกภักดีนารีวรคณานุรักษา”
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระองค์ได้ขอให้เปลี่ยนนามวัดใหม่เป็น “วัดวรจรรยาวาส” ด้วยเหตุเพราะว่าพระองค์ท่านได้เคยสดับพระดำรัสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระบิดาของพระองค์ตรัสว่า คำว่า “วรจันทร์” นี้ แต่เดิมเห็นจะเขียนผิดเพราะว่าแปลมิได้ความหมายชอบ ที่ถูกเห็นจะเป็นคำว่า “วรจรรย์” แปลว่า ผู้รักษาพรหมจรรย์ จึงจะถูกกว่า เพราะสมกับตำแหน่งหน้าที่ที่ควบคุมบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายใน พระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (ไหม บุญยโชติ) ประจักษ์ในเหตุผล คณะสงฆ์จึงประกาศใช้ชื่อว่า “วัดวรจรรยาวาส” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ดุประวัติวัดวรจรรยาวาส ต่อ / More Temple History Details