ยินดีต้อนรับ |
![]() |
ประวัติวัด / Temple historyประวัติวัดวรจรรยาวาสวัดวรจรรยาวาส เดิมชื่อว่า วัดบางขวางล่าง เพราะเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดหันลงสู่แม่น้ำ เหนือวัดนั้นมีคลองบางขวางซึ่งอยู่ติดกับวัด ส่วนปลายคลองนั้นเลียบวัดเข้าไปในสวน ซึ่งเป็นที่ที่ราษฏรในสวนนั้นใช้บรรทุกของจากสวนทางเรือไปมาซื้อขายกันเป็นประจำ ชนทั้งหลายเมื่อมีผู้มาสร้างวัดใหม่ขึ้น จึงเรียกขานตามความนิยมของชนในสมัยนั้นว่า “วัดบางขวางล่าง” เพิ่งมาเปลี่ยนในสมัยท่านพระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (ไหม บุญยโชติ) เป็นเจ้าอาวาส ถวายพระพรแด่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤติยากร ด้วยมูลเหตุว่า ทางวัดบางขวางล่างนี้ได้รับความเมตตาอุปถัมภ์เป็นอเนกนานาประการจากกุลทายิกา คือ ผู้สืบสกุลบุตรหลานจากท่านเจ้าของผู้สร้างวัดนี้มา คือ ท้าววรจันทรบรมธรรมิกภักดีนารีวรคณานุรักษา คุณย่าของพระองค์ ซึ่งได้มาบูรณะปฏิสังขรณ์วัด เช่น ซ่อมแซมพระอุโบสถ (โบสถ์) สร้างกุฎิสงฆ์ สร้างหอฉัน สร้างหอนั่ง และบางปีทางวัดไม่มีผู้จองกฐิน ท่านก็รับเป็นเจ้าภาพทอดในปีนั้น ถ้าปีใดท่านมาทอดกฐินจะเป็นการใหญ่ทีเดียว เพราะมีเจ้านาย ท้าวนางผู้ใหญ่ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมฝ่ายใน ทั้งในรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ที่เป็นมิตรสหายของท่าน เสด็จและมาช่วยงานท่านมากมาย ท่านได้มาวัดนี้ติดต่อกันถึง ๓ เจ้าอาวาส เพราะท่านมีชนมายุยืนถึง ๙๘ ปี จึงได้ถึงแก่อสัญกรรม (ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒) ฉะนั้น ทางวัดใคร่ขอเปลี่ยนนามใหม่เป็น “วัดวรจันทราวาส” ตามสัญญาบัตรที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็น “ท้าววรจันทรบรมธรรมิกภักดีนารีวรคณานุรักษา” มีตำแหน่งหน้าที่ในการบังคับบัญชาตัดสินราชการฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนมีหน้าที่ในการกราบทูลถวายคำแนะนำแด่พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในและว่ากล่าวตักเตือนพระสนมกำนัลฝ่ายใน ท่านได้รับราชการฝ่ายใน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นเจ้าจอมมารดาได้มีพระโอรสพระองค์เดียว คือ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ประสูติเมื่อวันพุธที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖ ปีกุน ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา และใน พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้ทรงรับเลื่อนกรมเป็น กรมขุน ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๓ ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดาและสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันอังคารที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ รวมพระชันษา ๕๒ พรรษา ทรงเป็นต้นราชสกุล “โสณกุล” และทรงเป็นพระบิดาของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ท้าววรจันทรฯ ท่านได้เข้ารับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ต่อ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ท้าววรจันทรบรมธรรมิกภักดีนารีวรคณานุรักษา” พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระองค์ได้ขอให้เปลี่ยนนามวัดใหม่เป็น “วัดวรจรรยาวาส” ด้วยเหตุเพราะว่าพระองค์ท่านได้เคยสดับพระดำรัสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระบิดาของพระองค์ตรัสว่า คำว่า “วรจันทร์” นี้ แต่เดิมเห็นจะเขียนผิดเพราะว่าแปลมิได้ความหมายชอบ ที่ถูกเห็นจะเป็นคำว่า “วรจรรย์” แปลว่า ผู้รักษาพรหมจรรย์ จึงจะถูกกว่า เพราะสมกับตำแหน่งหน้าที่ที่ควบคุมบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายใน พระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (ไหม บุญยโชติ) ประจักษ์ในเหตุผล คณะสงฆ์จึงประกาศใช้ชื่อว่า “วัดวรจรรยาวาส” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ผู้สร้างวัด พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือประวัติของท้าววรจันทรบรมธรรมิกภักดีนารีวรคณานุรักษาว่า วัดนี้ท่านขุนทองสื่อ (ทองอยู่) ซึ่งรับราชการในกรมท่า เป็นบุตรของพระยาอภัยพิพิธ (สุ่น) มีคุณหญิงฉิม เป็นมารดา ซึ่งเป็นน้องชายของคุณพระสิริสมบัติ (เลี้ยง) ผู้เป็นคุณปู่ของคุณท้าววรจันทรบรมธรรมิกภักดีนารีวรคณานุรักษา คุณย่าของพระองค์เป็นผู้ยกที่ดินและสละทรัพย์สมบัติในสกุลของท่านสร้างวัดนี้ถวายไว้ในพระพุทธศาสนา เห็นจะในราวปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ หรือรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ผู้อุปถัมภ์และปฏิสังขรณ์วัดต่อมา ท่านขุนทองสื่อ (ทองอยู่) ผู้สร้างวัดนี้คงจะได้สร้างพระอุโบสถ (โบสถ์) ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์ พร้อมหมดดีอยู่แล้ว ถึงรัชกาลที่ ๕ ก่อนพุทธศักราช ๒๔๔๐ สักหน่อยหนึ่ง เสนาสนะ เช่น กุฏิสงฆ์ ศาลาหอฉัน ศาลานั่งพัก สิ่งสำคัญ คือ โบสถ์ ได้ชำรุดทรุดโทรมลง เพราะเป็นเวลานานถึง ๗๐ – ๘๐ ปี เมื่อคุณท้าววรจันทรบรมธรรมิกภักดีนารีวรคณานุรักษา ได้มาเยี่ยมเยียนวัดเห็นสภาพของวัดในเวลานั้นแล้ว ท่านบังเกิดความสังเวชและสงสารบรรพชนผู้สร้างยิ่งนัก ท่านจึงได้บริจาคทรัพย์ให้นายช่างซ่อมแซมทีละเล็กทีละน้อยจนถึงได้ซ่อมแซมโบสถ์จนสำเร็จบริบูรณ์ ได้ทำการฉลองในท่ามกลางวงศาคณาญาติและมิตรสหายท่านในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ นั่นเอง ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็ได้มาทำบุญบำเพ็ญกุศลที่วัดแห่งนี้เป็นประจำ เช่น สรงน้ำพระ รดน้ำอัฐิบรรพชนของท่าน บางปีก็มาทอดกฐินพร้อมด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระโอรสท่านและหม่อมเจ้าชายหญิง พระโอรสธิดาในกรมขุนซึ่งเป็นหลานของท่าน บางทีมีเจ้าภาพมาจองกฐินวัด ท่านก็จะชวนญาติมิตรข้าราชการฝ่ายในไปทอดที่อื่นเป็นประจำตลอดชนมายุของท่าน ตั้งแต่ท่านถึงอสัญญกรรมในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ แล้ว พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร ได้เสด็จมาเป็นประจำพร้อมทั้งประประยูรญาติสืบต่อมาจนถึงกระทั่งปัจจุบันนี้ และในการบำเพ็ญบุญของท่านก็ได้เพิ่มพิธีเป็นพิเศษอีกด้วย กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ พระองค์ท่านทรงเป็นเจ้าภาพทอดกฐินและทำพิธีบรรจุอัฐิคุณท้าววรจันทรบรมธรรมิกภักดีนารีวรคณานุรักษา คุณย่าของพระองค์ท่านไว้ ณ ผนังโบสถ์ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ตั้งแต่ปีนั้นต่อมา เมื่อทางวัดเสร็จพิธีรับกฐินแล้ว ท่านก็บำเพ็ญกุศล พระสงฆ์ ๑๐ รูป บังสุกุลอัฐิคุณท้าววรจันทรบรมธรรมิกภักดีนารีวรคณานุรักษา อีกครั้งหนึ่งด้วย พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสด็จมาวัดวรจรรยาวาส ปีละ ๒ ครั้ง ดังนี้ ครั้งแรก เมื่อเข้าพรรษาแล้ว ในระยะแรม ๒ – ๕ ค่ำ เดือน ๘ เสด็จมาถวายเครื่องสักการะท่านเจ้าอาวาส ครั้งที่สอง เสด็จมาร่วมอนุโมทนาท่านเจ้าภาพกฐิน ครั้นเสร็จพิธีกฐิน ก็ทรงบำเพ็ญกุศลดังกล่าวข้างต้น แม้ในกาลบางครั้ง เมื่อทายาทของผู้วายชนม์ซึ่งเป็นกรรมการวัด กราบทูลเชิญเสด็จให้ทรงเป็นประธานจุดไฟประชุมเพลิงศพ ท่านก็ทรงเมตตาและอนุเคราะห์เสด็จมาทุกครั้ง นับว่าวัดวรจรรยาวาสได้รับความอุปถัมภ์อนุเคราะห์จากท่านเป็นอย่างดี นอกจากนั้น ก็มีกุลทายิกา กุลทายาทของท่านเจ้าของวัด ท่านได้เสด็จมาและมาเยี่ยมเยียนเป็นประจำตลอดถึงปัจจุบันนี้ ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุสำคัญในวัด พระประธานในพระอุโบสถ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๑๗ นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี ๘ ศอก ๔ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปั้นปิดทอง ไม่มีนามปรากฎ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายพระโมคัลลานะ – เบื้องขวาพระสารีบุตร สูง ๓๔ นิ้ว พระพุทธรูปยืน ๔ องค์ ปางห้ามญาติ ๓ องค์ ปางห้ามสมุทร ๑ องค์ พระพุทธรูปปูนขาว แบบคันธาระ หน้าตักกว้าง ๑๑ นิ้ว สูง ๑๖ นิ้ว (คุณพระสาลียากรพิพัฒน์ สร้างถวาย) พระพุทธรูปทองเหลือง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑๑ นิ้ว สูง ๑๘ นิ้ว (ตระกูลพูลศิริ สร้างถวาย) พระพุทธรูปทองเหลือง ๒ องค์ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๙ นิ้ว สูง ๑๓.๕ นิ้ว (นายปอสุน แซ่เฮง สร้างถวาย เมื่อวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๑๑) พระพุทธรูปทองเหลือง ๒ องค์ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑๔ นิ้ว สูง ๒๒.๕ นิ้ว (นางแส จรุงกลิ่น สร้างถวาย เมื่อวันที่ ๑๕ ต.ค. ๒๕๑๒) โต๊ะหมู่ปิดทอง ๙ (ตระกูลบุญชาติ สร้างถวาย) ฉัตรเพชร ๕ ชั้น ๑ คู่ พร้อมแก้วครอบ (แม่ชีอนงค์ อิ่มเงิน สร้างถวาย) ทั้งหมดนี้ ประดิษฐานอยู่บนชุกชีภายในโบสถ์ ธรรมาสน์บุษบก ๑ หลัง เป็นฝีมือของช่างครั้งกรุงเก่าทั้งหลัง มีศิลปะลวดลายงดงามยิ่งนัก ทราบมาว่าบุษบกชนิดนี้มีอยู่ในประเทศไทย ๓ หลังเท่านั้น และธรรมาสน์บุษบกของวัดวรจรรยาวาสนี้คงสภาพดีแทบทุกอย่างกว่าที่ใดหมด คราวบูรณะธรรมาสน์บุษบกหลังนี้ในยุคท่านพระครูกัลยาณคุณ เป็นเจ้าอาวาส ด้วยความประณีตของช่างและอุปกรณ์เครื่องใช้กินเวลานานถึง ๒๐ เดือน และสิ้นค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนถึง ๑๒๐,๐๐๐ บาท ท่านขุนทองสื่อ (ทองอยู่) ผู้สร้างวัดวรจรรยาวาสนี้ คงจะได้ผาติกรรม (คือ การถ่ายถอนด้วยสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสร้างของอย่างอื่นตอบแทน หรือนำของแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมกับของนั้น) จากวัดใดวัดหนึ่งซึ่งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามาถวายไว้ ณ วัดนี้ที่ท่านได้สร้างอย่างแน่นอน เพราะปรากฏหลักฐานว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ท่านท้าววรจันทรบรมธรรมิกภักดีนารีวรคณานุรักษา ได้มาช่วยอำนวยการซ่อมแชมโบสถ์และมาฉลองโบสถ์นั้น ตรงกับสมัยท่านพระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (หนู) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งธรรมาสน์บุษบกหลังนี้คงมีอยู่แล้ว แต่ถ้ายังไม่มีจะเป็นความสามารถของท่านเจ้าอาวาสจะหามาด้วยตนเอง (ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้) หรือท่านท้าววรจันทรฯ จะนำมาถวายวัดไว้ในระยะนี้หรือต่อมา ก็คงจะต้องปรากฏหลักฐานมาถึงปัจจุบัน และด้วยเหตุผลอีกทางหนึ่ง เพราะธรรมดาวัดราษฎร์ นอกจากโบสถ์ พระประธานในโบสถ์ ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์ ซึ่งเป็นหลักใหญ่ของวัดแล้ว ก็ไม่มีอะไรเหมาะสมเท่าธรรมาสน์เทศน์แน่นอน ฉะนั้นท่านคงพยายามขวนขวายด้วยศรัทธาอุตสาหะโดยที่คิดว่าเมื่อสร้างวัดนี้ได้ ก็ต้องหาของดีมาถวายคู่กับวัดได้ และคงจะได้เห็นจากวัดใดวัดหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะลวดลายฝีมือเป็นของช่างกรุงเก่า และคงจะได้ผาติกรรมจากวัดนั้น นำมาถวายในวัดวรจรรยาวาสที่ที่ท่านสร้างแน่นอน ธรรมาสน์ปาฏิโมกข์ สลักลวดลายล่องชาด ๑ ธรรมาสน์ (พุทธบริษัทสร้างถวายปี ๒๔๘๓) ธรรมาสน์แสดงธรรมฝังมุกข์ ลวดลายดอกไม้เถา ๒ ธรรมาสน์ (พระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (ไหม บุญยโชติ) สร้างถวายวัด) แจกันกังไสลายครามคู่ใหญ่ ปากกว้าง ๑๔ นิ้ว สูง ๓๖ นิ้ว แจกันกังไสลายคามคู่เล็ก ปากกว้าง ๗ นิ้ว สูง ๑๖ นิ้ว กระถางปักธูปลายคราม ๑ กระถาง ปากกว้าง ๑๔ นิ่ว สูง ๑๒ นิ้ว (พระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (ไหม บุญยโชติ) สร้างถวาย) เชิงเทียนทองเหลือง ๑ คู่ ราวเทียนทองเหลือง แจกันทองเหลือ (พระอาจารย์ชวาลย์ อุตฺตโม ถวาย) นาฬิกาปารีส ๑ เรือน สูง ๒ เมตร ๓๔ ชม. (พระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (ไหม) และภิกษุสามเณรทายกทายิการ่วมถวาย) นาฬิกาไฟฟ้า ๑ เรือน (นายโชติ เชิดชื่น ถวายเป็นพุทธบูชา) โต๊ะหมู่ฝังมุก หมู่ ๙ ตระลุ่มฝังมุก ๘ ใบ กี๋น้ำชาฝังมุก ๗ กี๋ ตามขนาดและลวดลาย เครื่องปั้นต่างขนาดและชนิดพร้อมถ้วยชากังไสชุด เครื่องตั้งบูชาชุดเจียรนัย ๔ ตามขนาดและลวดลาย เครื่องตั้งบูชาชุดจีน ๑ ชุด (แต่ขาดชุด เพราะแตกไปบ้าง) ฉากกังไส กระโถนกังไส ตุ่มกังไส บาตรกังไส เครื่องนมัสการทองน้อย และเครื่องชุดน้ำชา จ.ป.ร. ๒ สิ่งท้ายนี้ เฉพาะองค์พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร ซึ่งของทั้งหมดนี้ท่านพระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (ไหม บุญยโชติ) ได้มาและชื้อหาในสมัยท่านเป็นเจ้าอาวาสแทบทั้งสิ้น (ตามประวัติ ท่านเจ้าอาวาสรูปนี้ชอบสะสมและซื้อหาเครื่องกังไสลายคราม เครื่องเจียรนัย และเครื่องมุก ประกอบกับท่านมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลวัดพระยาไกรด้วย ซึ่งในสมัยนั้นพระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินหรือพิธีวิสาขบูชา ท่านเจ้าอาวาสพระอารามนั้นจะต้องมีหนังสือมาและขอให้ท่านนำเครื่องตั้งกังไสชุดจีน หรือชุดเจียรนัยไปตั้งรับเสด็จ และประกวดประชันกัน ท่านเป็นต้องไปช่วยเหลือทุกคราวที่ขอมา) โบสถ์ ร่วมใน ๕ ห้อง ยาว ๘ วา กว้าง ๕ วา หลังคา ๒ ชั้น (ชั้น ๓ เป็นพระไลปิดหน้าและหลังโบสถ์) หลังคามุงกระเบื้องสี ขอบนอกสีเขียวใบไม้ ขอบในสีเหลือง มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันของหน้าและหลังโบสถ์มีรูปพระวิษณุกรรมด้านละ ๑ องค์ มีประตู ๕ ประตู หน้า ๓ หลัง ๒ หน้าต่าง ๑๐ ช่อง ขวา ๕ ซ้าย ๕ หน้าโบสถ์ในกำแพงแก้ว มีมณฑป ๒ หลัง มณฑปด้านซ้ายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งเป็นพระประจำตระกูลของท่านเจ้าของวัด ทางวัดจะเปิดไว้ในเวลาพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร และพระประยูรญาติ เสด็จกลับมาทรงจุดธูปเทียนลาทุกครั้ง มณฑปข้างขวา มีพระพุทธรูปปางห้ามญาติและปางทุกกรกิริยา (ราชสกุล นรินทรางกูร สร้างถวายไว้ในพระพุทธศาสนา) ด้านหน้าโบสถ์ข้างขวา มีวิหาร ๑ หลัง (พระอาจารย์เคน ขนฺติธมฺโม เป็นเจ้าภาพสร้างถวาย) ด้านหน้าโบสถ์ข้างซ้าย มีวิหาร ๑ หลัง ชื่อวิหารโฆสิตาราม (คุณโยมเหรียญ สืบศรี เป็นผู้สร้างถวาย) ด้านข้างซ้ายของโบสถ์ มีวิหาร ๒ หลัง กว้างยาวเท่ากัน ชื่อวิหารอัมพวันและเชตะวัน (คุณโยมโชติ-ศิริยุพา เชิดชื่น เป็นผู้สร้างถวาย) ด้านข้างขวาของโบสถ์ มีวิหาร ๒ หลัง กว้างยาวเท่ากัน ชื่อวิหารบุปผาราม (คุณโยมประเสริฐ-วงษ์ ตัณฑประภา เป็นผู้สร้างถวาย) และวิหารเวฬุวัน (คุณพ่อสุเมธ-คุณแม่พวงเพชร อานันท์ธนทรัพย์ และคุณโยมสว่าง-นัฏฐา มาสกี พร้อมบุตร-ธิดา เป็นผู้สร้างถวาย) วิหารทั้ง ๖ หลังนี้ สร้างในสมัยพระครูวรพรตสิทธิพงศ์ ภายในวิหารทั้ง ๖ หลัง ฝาผนังที่ติดกำแพงแก้ว เป็นที่บรรจุอัฐิ ส่วนภายในวิหารใช้เป็นสถานที่ศึกษาธรรม บำเพ็ญกุศล และเจริญกรรมฐาน ด้านหลังอุโบสถ์มีวิหาร ๓ ห้อง ๒ หลัง อยู่ภายในกำแพงแก้ว ด้านซ้ายห้องแรกประดิษฐานรูปหล่อท่านพระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (ไหม บุญยโชติ) ห้องกลางประดิษฐานรูปหล่อท่านพระครูกัลยาณคุณ (แม้น สุลโภ) และห้องสาม เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อท่านพระครูธรรมาทร (ดวง) วิหารด้านขวาเป็นที่บรรจุอัฐิ ภายในมุมกำแพงแก้ว มีพระปรางค์ประจำสี่ทิศของโบสถ์ สูงแต่ฐานถึงยอด ๓ วา ๓ ศอก ฐานกว้างโดยรอบ ๒ วา ที่ธรณีสงฆ์และที่จัดผลประโยชน์ วัดมีที่ดินจำนวน ๒ แปลง แปลงที่ ๑ คือ พื้นที่วัด ซึ่งมีเขตพุทธาวาส สังฆาวาส และด้านขวาของหน้าวัด ซึ่งหันหน้าลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ให้ผู้เช่าทำโกดังเก็บสินค้าจัดเป็นผลประโยชน์โดยผู้เช่าได้ทำสัญญาเช่าเป็นรายปี บริเวณวัดมีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๓ ไร่ แปลงที่ ๒ อยู่ในตรอกซึ่งเป็นทางเข้าวัด ชั้นเดิมเห็นจะเป็นที่แปลงเดียวกัน แต่มิใช่แบบเชื่อมติดต่อกันเป็น ๔ เหลี่ยมผืนผ้า แต่เป็นชนิดมุมต่อมุมติดต่อแบบทแยงมุมอัศจรรย์ ปัจจุบันเป็นที่ดินจัดผลประโยชน์วัด โดยให้ช่างรับเหมาสร้างอาคารที่อยู่อาศัยจำนวน ๓๒ ห้อง โดยทางวัดให้กรมการศาสนาเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ เขตสังฆาวาสที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษานั้น แต่เดิมกุฏิพระสงฆ์ปลูกอยู่หน้าวัดริมแม่น้ำตรงเขื่อนบ้าง บนด้านขวามือเลียบขึ้นมาบ้าง หลังโบสถ์บ้าง ไม่ได้ระเบียบ มายุคท่านพระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (ไหม บุญยโชติ) เป็นเจ้าอาวาส ได้ดำเนินการรื้อกุฏิหนี้น้ำบ้าง และกุฏิที่ปลูกไม่ได้ระเบียบบ้าง มาปลูกให้เป็นแนวเดียวกัน ดังได้เห็นในปัจจุบันนี้ แต่ยังไม่ทันเสร็จเรียบร้อยดี ก็มาอาพาธและถึงแก่มรณะเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ยุคต่อมา พระอธิการปภัสสร์ ปภสฺสโร เป็นเจ้าอาวาส ได้อำนวยการสร้างฌาปนสถานขึ้นเพื่อพระราชทานเพลิงศพพระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (ไหม บุญยโชติ) ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๙ พระอธิการปภัสสร์ ปภสฺสโร ได้ขอพระบรมราชานุญาตลาสิกขา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ท่านพระครูกัลยาณคุณ (แม้น สุลโภ) ได้ย้ายจากวัดปทุมคงคามาปกครองเป็นเจ้าอาวาส ได้อำนวยการซ่อมแซมรื้อถอนสร้างใหม่ให้บริบูรณ์เรียบร้อยดี เฉพาะในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้ซ่อมแซมหลังคาโบสถ์เปลี่ยนช่อฟ้าใบระกา ปรับปรุงฐานชุกชีและพื้นโบสถ์และท่านได้ถวายพระพรแด่ พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร เสด็จทรงเป็นประธานในการยกช่อฟ้าด้วย มาในสมัยท่านพระครูวรพรตสิทธิพงศ์ (สุกฤษณ์ จิรปฺปสาโท) เป็นเจ้าอาวาสได้บูรณะปฏิสังขรณ์กุฎิ ศาลาบำเพ็ญบุญ ชักชวนญาติโยมเป็นเจ้าภาพสร้างกุฎิวิหารเป็นลำดับมา เป็นต้นว่า -สร้างกุฎิหลังเล็ก ลักษณะเป็นทรงไทยชั้นเดียว กว้าง ๓ เมตร ยาว ๔ เมตร จำนวน ๒๕ หลัง -สร้างศาลาบำเพ็ญกุศล ทรงไทยชั้นเดียว กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๑๓ เมตร -สร้างกุฎิสงฆ์ทรงไทย โครงอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่ออิฐถือปูน ๘ หลัง แต่ละหลังกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๓ เมตร โดยมีคุณโยมประไพศรี พิทักษ์อรรณพ เป็นผู้มีจิตศรัทธาสร้างถวาย -ปฎิสังขรณ์โรงเรียนปริยัติธรรมวัดวรจรรยาวาสใหม่ ยาว ๓๐ เมตร กว้าง ๗ เมตร ปฏิสังขรณ์ภายในพระอุโบสถ ซ่อมพระประธาน ปิดทองคำเปลวใหม่ทั้งองค์ พร้อมทั้งซ่อมระเบียงรอบพระอุโบสถ เทปูนทำหินขัดมันใหม่หมด ปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์มณฑป ฯลฯ -สร้างศาลาบำเพ็ญกุศลทรงไทย โครงอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๓๕ เมตร ชื่อศาลาดารานนท์ โดยมีคุณโยมสิริสุข – เสริม ดารานนท์ เป็นผู้มีจิตศรัทธาสร้างถวาย -สร้างศาลาบำเพ็ญกุศลทรงไทย โครงอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่ออิฐถือปูน ๓ ชั้น กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๕ เมตร ชื่อศาลาพิสิษฐ์อนุสรณ์ โดยมีคุณแม่ละม่อม นรินทรางกูร ณ อยุธยา พร้อมบุตร - ธิดา เป็นผู้มีจิตศรัทธาสร้างถวาย -สร้างศาลาจัตุรมุขทรงไทย โครงอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น ๒ หลัง ที่ท่าน้ำด้านขวา ชื่อวิหารจัตุรมุขมหาจุฬามณี โดยมีคุณโยมสุนี - ภารณี มุสิกศิลป์ เป็นผู้มีจิตศรัทธาสร้างถวาย ด้านซ้ายชื่อวิหารจัตุรมุขบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ โดยมีตระกูลดวงรัตน์ เป็นผู้สร้างถวาย เป็นที่บำเพ็ญบุญของสาธุชนสืบไป ที่ดินวัดและราคาสิ่งก่อสร้างในวัดที่ดินวัด มีที่ดินตั้งวัดทั้งหมด เนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๓ งาน-ตารางวา ได้ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยท้าววรจันทร์บรมธรรมิกภักดีนารีวรคณานุรักษา ตำแหน่งหน้าที่ควบคุมรักษาการข้าราชการฝ่ายใน ในรัชกาลที่ ๔-๕ โดยขุนทอง (ทองอยู่) รับราชกาลในกรมท่า เป็นผู้สร้างถวาย และพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดา (พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต) พระเจ้าลูกยาเธอ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นหลานท้าววรจันทร์ ได้เป็นผู้อุปภัมถ์วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ อุโบสถสร้างด้วยอิฐถือปูน มีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในบริเวณวัด คือ - อุโบสถ ค่าก่อสร้างประมาณ ๑๐ ล้านบาท - วิหาร จำนวน ๑ หลัง สร้างด้วยอิฐถือปูน ค่าก่อสร้างประมาณ ๕ ล้านบาท - ศาลาการเปรียญ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ค่าก่อสร้างประมาณ ๒๐ ล้านบาท (ศาลาแดง ปัจจุบันได้ถูกรื้อเพื่อสร้างหลังใหม่) - กุฏิ จำนวน ๑๑ หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ค่าก่อสร้างประมาณ ๓๐ ล้านบาท - หอสวดมนต์ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ค่าก่อสร้าง ๑๐ ล้านบาท - โรงเรียนปริยัติธรรม สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ค่าก่อสร้าง ๑๕ ล้านบาท - ศาลาบำเพ็ญกุศล สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ หลัง ค่าก่อสร้าง ๑๒ ล้านบาท - ศาลาจัตุรมุข ๒ หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ค่าก่อสร้าง ๓ ล้านบาท - ศาลาศาสนสงเคราะห์ ๑ หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ค่าก่อสร้าง ๓๕ ล้านบาท ปูชนียวัตถุในวัด- พระเจดีย์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ - พระปรางค์ใหญ่ ๔ องค์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ - มณฑปบรรจุอัฐิท้าววรจันทร์ ๒ หลัง สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ - พระประธานปรางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๘ ศอก ๑๒ นิ้ว สูง ๘ ศอก ๔ นิ้ว กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร และพระประยูรญาติ ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ และเสด็จมาจุดธูปเทียนทุกครั้งเมื่อเสด็จวัด หรือมาบำเพ็ญพระราชกุศล ระเบียบและขนบธรรมเนียมวัดมีการทำวัตรสวดมนต์ทุกวันเวลาเช้า - เย็น การลงอุโบสถฟังและสวดปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน ทำพิธีเวียนเทียนในวันมาฆบูชา วิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา ถึงเทศกาลในพรรษามีการเทศน์มหาชาติ วันออกพรรษามีการตักบาตรเทโว การแสดงธรรมในวันธรรมสวนะมีทุกวัน ๘ ค่ำและ ๑๕ ค่ำ ทั้งเช้า – บ่าย และค่ำ มีการฝึกหัดบำเพ็ญสมถะ – วิปัสสนากัมมัฏฐาน แก่ภิกษุสามเณรและอุบาสก – อุบาสิกา ที่มารักษาศีลอุโบสถเป็นประจำ ลำดับเจ้าอาวาสวัดวรจรรยาวาสวัดวรจรรยาวาสนี้ นับตั้งแต่ท่านขุนท่องสื่อ (ทองอยู่) ได้สร้างวัดนี้ขึ้นถวายไว้ในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านผู้ใดจะมาเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดมากี่รูปก็ไม่ปรากฏ มาปรากฏหลักฐานเท่าที่ทราบเมื่อท่านพระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (หนู) เป็นเจ้าอาวาส ตรงกับปี พ.ศ.๒๔๔๐ ว่าท่านท้าววรจันทรบรมธรรมิกภักดีนารีวรคณานุรักษา ได้มาบริจาคทรัพย์ช่วยเจ้าอาวาสซ่อมแซมโบสถ์ สร้างกุฎิสงฆ์ ศาลาหอฉัน ศาลาหอนั่ง แล้วมาฉลองวัดและฉลองโบสถ์ด้วย ฉะนั้นจะลำดับแต่ที่ปรากฏดังนี้ คือ๑.ท่านพระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (หนู) ก่อนปี พ.ศ.๒๔๔๐ – ๒๔๖๐ ๒.ท่านพระครูธรรมาทร (ดวง) พ.ศ.๒๔๖๐ – ๒๔๖๙ ๓.ท่านพระครูบัณฑิตานุวัฒน์ (ไหม บุญยโชติ) พ.ศ.๒๔๗๐ – ๒๔๙๗ ๔.ท่านพระอธิการปภัสสร์ ปภสฺสโร พ.ศ.๒๔๙๗ – ๒๔๙๙ ๕.ท่านพระครูกัลยาณคุณ (แม้น สุลโภ น.ธ. เอก, ป.ธ.๓) พ.ศ.๒๕๐๐ – ๒๕๑๔ ๖.ท่านพระครูวรพรตสิทธิพงศ์ (สุกฤษณ์ จิรปฺปสาโท น.ธ.เอก) พ.ศ.๒๕๑๕ – ๒๕๖๐ ๗.ท่านพระครูวิสิฏกิจจานุกิจ (เทพดรุณ ฐานเทโว น.ธ.เอก) พ.ศ.๒๕๖๑ – ปัจจุบัน เจ้าอาวาสวัด ผู้มีหน้าที่ปกครองและดูแลพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดและรักษาเสนาสนะซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์ หรือขวนขวายสร้างของใหม่ให้มีขึ้นนั้น ก็ได้กระทำการเสมอมาตามยุคตามคราวที่ทรุดโทรมน้อยหรือมาก แต่ถ้าทรุดโทรมมากก็หมดความสามารถของเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัด ฉะนั้น ถ้าคราวใดเสนาสนะทรุดโทรมมามากก็เป็นภาระของท่านผู้สร้างวัดหรือบุตรหลาน แต่ต่อมา ท่านเจ้าอาวาสก็ได้พยายามชักชวนคณะศรัทธาญาติโยม ขวนขวายสร้างของใหม่ หรือสละทรัพย์สร้างถวายวัดเพื่อเป็นพุทธบูชาเป็นอนุสรณ์อุทิศให้แก่บรรพชนทำให้วัดเจริญบริบูรณ์อำนวยประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ |